การเจ็บไข้ได้ป่วย การคลอดบุตร และสิทธิการสงเคราะห์บุตร หรือความรู้สึกกังวลเรื่องการเงินหลังเกษียณ ล้วนเป็นประเด็นที่ฟรีแลนซ์และเหล่าคนทำงานอาชีพอิสระทุกคนต่างให้ความสนใจ

ประกันสังคม มนุษย์เงินเดือน ดูแลท่านกี่กองทุน
หากจะกล่าวถึงสิทธิประโยชน์ที่เหล่าฟรีแลนซ์ และอาชีพอิสระ และผู้ประกันตนจะได้รับนั้น เราต้องมาทำความรู้จักกับ กองทุนสำคัญ 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นกองทุนที่คอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตนทุกมาตราทั้ง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33,39 และ 40 โดย กองทุนประกันสังคม คือ กองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเมื่อ ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ซึ่งไม่มีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และอื่น ๆ
ในขณะที่ กองทุนเงินทดแทน จะเป็นกองทุนที่เป็นฝ่ายนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงิน ขึ้นอยู่กับอัตราความเสี่ยง เพราะจะเป็นการคุ้มครองผู้ประกันตนในกรณีการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ตามการให้ประโยชน์ทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนคุ้มครองกรณีเนื่องจากการทำงาน ในกรณี ประสบอันตราย ทุพพลภาพ เจ็บป่วย ตายหรือสูญเสียอวัยวะ อันเนื่องมาจากการทำงาน
โดยสำหรับการใช้สิทธิประกันสังคม อาชีพอิสระ เหล่าผู้ประกันตนไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้สิทธิจากกองทุนต่าง ๆ เพราะทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลจะเป็นผู้ที่แยกและดำเนินการทางเอกสารให้ท่านเอง โดยจะดำเนินการใช้สิทธิประกันสังคมนั้นจากการสัมภาษณ์ สอบถามเบื้องต้นจากการทำงานหรือจากเหตุต่าง ๆ เมื่อท่านเข้ารับการบริการ
Advertisement
ผู้ประกันตน คือ ได้รับสิทธิประกันสังคมอะไร และจ่ายเงินสมทบ เท่าไหร่
ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ซึ่งได้รับความคุ้มครองสิทธิประกันสังคม 7 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยถ้าลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แต่นายจ้างยังจ้างงานให้ทำงานต่อ ให้ถือว่าเป็นผู้ประกับตนต่อไป และยังคงได้รับสิทธิผู้ประกันตน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ทำงานประจำ ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมาย
- กลุ่มที่ทำงานประจำ แต่ลาออกและไม่ได้สมัครงานประจำต่อ ซึ่งเคยจ่ายเงิน สมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือนตอนที่ยังทำงานประจำอยู่ และลาออกจากงานประจำไม่เกิน 6 เดือนเมื่อลาออกแล้วยังสมัครใจที่จะจ่ายเงินสมทบต่อ เพื่อรับสิทธิประกันสังคมต่อเนื่อง (มาตรา 39)
- รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานประจำ (เป็นฟรีแลนซ์) อายุ 15 – 60 ปี เลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อให้ได้สิทธิประกันสังคม (มาตรา 40)
ผู้ประกันตนที่อยู่ในกฎหมายประกันสังคม มนุษย์เงินเดือน อาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ มีด้วยกันทั้งหมด 3 ประเภทโดยแบ่งตามกฎหมายประกันสังคม 3 มาตราใหญ่ ๆ คือ มาตรา 33, 39, 40 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ผู้ประกันตน มาตรา 33
คือผู้ประกันตน ที่มีสถานะเป็นพนักงงานเอกชนทั่วไป ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างหรือสถานประกอบการ ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยกฎหมายประกันสังคม มนุษย์เงินเดือนมาตรา 33 นี่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้ประกันตนมากที่สุด โดยมีการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินชดเชย ซึ่งมีการหักเงินสะสม 5% ของฐานเงินเดือน (ในปัจจุบันคือ 15,000 บาท) ซึ่งสมทบสูงสุดที่ 750 บาท และสามารถได้รับสิทธิประกันสังคม ครบทั้ง 7 ประการ คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน
ผู้ประกันตน มาตรา 39
เป็นสิทธิประกันสังคม สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วจะต้องลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน โดยหากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ผู้ประกันตน มาตรา 39 ของประกันสังคม มนุษย์เงินเดือนจะต้องเคยทำงานแล้วลาออก แต่มีความประสงค์ที่จะส่งเงินสมทบต่อเนื่อง เพื่อขอรับสิทธิประกันสังคมต่อ
โดยจะได้รับการคุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ โดยการจ่ายเงินสมทบ จะดำเนินการคำนวณที่ฐานเงินเดือน เดือนละ 4,800 บาท และคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% ดังนั้นผู้ประกันตน มาตรา 39 จะต้องจ่ายเงินสมทบที่ 432 บาท
ผู้ประกันตน มาตรา 40
สิทธิประกันสังคม ตามมาตรา 40 คือช่องทางสร้างหลักประกันในชีวิตให้กับประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ทุกอาชีพที่ไม่มีนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า แม่ค้าตลาดนัด หรือฟรีแลนซ์ โดยสามารถได้รับสิทธิประกันสังคม สำหรับการเป็นผู้ประกันตน 3 – 5 กรณี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินสมทบ โดยสามารถเลือกได้ตามรายละเอียด ดังนี้
- ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย
- ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ
- ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อที่ 1506 หรือ สำนักงานประกันสังคม