บทความ โดย Dok Talom
หนังสือฝุ่น ๆ กับคุณวันพฤหัสฯ วันนี้ขอปัดหนังสือฝุ่น ๆ ที่อยู่ในกองดองกันบ้าง และแล้วสายตาก็ไปหยุดอยู่ที่หนังสือเล่มหนึ่ง “โลกต่างฤดู” หนังสือที่ฉันตัดสินใจซื้อมาเพราะชื่อนักเขียน ภาณุ มณีวัฒนกุล
ชื่อนี้เป็นชื่อที่ฉันแสนคุ้นเคย เพราะเป็นชื่อนักเขียนคนที่ฉันต้องนึกถึงบ่อยมาก ๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เพราะตัวฉันเอง ได้ตัดสินใจเลือกหนังสือเล่มหนึ่งของเขามาทำโปรเจคใกล้จบ โดยหนังสือเล่มนั้นก็คือ “อารมณ์ดอกไม้” หนังสือที่ดึงดูดฉันเพราะชื่อของมันและต้องมาผูกพันกันตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ฉันก็เริ่มที่จะลืมเลือนความรู้สึกนั้น จนกระทั้งวันหนึ่งได้กลับมาเจอหนังสือเล่มนี้ “โลกต่างฤดู” ฉันเลยถือโอกาสหยิบกลับมาบ้าน และเมื่อได้เปิดอ่านเพียงไม่กี่บท ก็ต้องเก็บเข้ากองดองตามระเบียบ จนถึงวันนี้เอง ที่เริ่มรู้สึกถูกสะกิดเบาๆ ว่า “เปิดอ่านฉันเถอะ”
Advertisementโลกต่างฤดู หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่มีจำนวนหน้าแค่ 135 หน้า พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2546 เล่มนี้ ฉันอ่านหนังสือที่มีอายุเกือบ 20 ปีเลยเหรอ แน่นอนว่าภาพประกอบในเล่มทั้งหมด ล้วนเป็นหน้าขาวดำ แต่กลับมีเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดให้ฉันอยากเปิดอ่านเนื้อหา บวกกับชื่อเรื่องของมัน “โลกต่างฤดู” มันคงเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับชีวิตสินะ ชีวิตที่บางครั้งเราต่างก็หลงลืมที่จะใช้มัน
เพราะทุกวันนี้เราแค่ไหลไปกับโลก อะไรเข้ามาก็รับ ฟัง กิน ทำ เที่ยว ต่าง ๆ นานา ไปตามกระแสสังคมโดยลืมว่าจริง ๆ แล้วชีวิตต้องการอะไร “หลายครั้งที่ชีวิตสวยงามกว่าความฝัน และหลายหนที่ความฝันงดงามกว่าชีวิตจริง มันขึ้นอยู่กับว่าชีวิตเป็นของใครและใครคนนั้นกำลังฝันถึงชีวิตอย่างไร” นี่คือหน้าเปิดของหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของ ฤดูต่าง ๆ ที่อยู่ต่างทิศ ต่างถิ่น และเป็นเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่อยู่ในที่นั้น ๆ มีบางเรื่องชวนให้เราคิดถึงอดีต อย่างเรื่อง ลมว่าว สำหรับที่เกิดทันการเล่นหรือทำว่าวจะรู้เลยทันทีว่ามันสนุกแค่ไหน หรือบางเรื่องก็ทำให้น้ำตาตกในเบา ๆ อย่างเรื่อง มรสุม มันเป็นฤดูที่ถาโถมใส่ชีวิตใครบางคนได้อย่างเจ็บปวดหัวใจแสนสาหัส แม้แต่ฤดูหนาวก็พัดพาความเหงา ให้อ้างว้างในหัวใจ ซึ่งเมื่อได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้เราเข้าใจเลยว่า ทุกชีวิตล้วนมีฤดูกาลเป็นของตัวเอง ฤดูที่ต้องเสียน้ำตา ฤดูที่หัวใจแหลกสลาย หรือฤดูแห่งความหวัง ความเปรมปรีดิ์ ซึ่งทุกอารมณ์เหล่านั้นจะผ่านพ้นไปดังเช่นฤดูกาล
ข้อดีของการอ่านหนังสือเก่านั้นก็คือ การที่เราได้ย้อนกลับไปมองดูชีวิตและเรื่องราวสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไร ผู้คนในตอนนั้นคิดหรือหวังสิ่งใดกันอยู่ มันเป็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากหนังสือใหม่ในปัจจุบัน และหนังสือเล่มนี้เอง ได้ทำให้ฉันอยากกลับไปทำในสิ่งที่เคยหลงลืม เช่น การเขียนบันทึก การดื่มด่ำกับภาพบรรยากาศที่อยู่ตรงหน้า หรือการออกเดินทางเพื่อค้นพบบางสิ่งบางอย่างมากกว่าการไปเพราะเห็นจากสื่อโซเซียลที่ดูสวยงาม แต่จริงๆ แล้วบางครั้งเมื่อไปถึง กลับไม่ได้อะไรกลับมาให้จดจำเลย
ซึ่งมันคงจะดีกว่า ถ้าเราเดินทางไปหาสถานที่หรือไปตามรอยความทรงจำของใครบางคน โดยตัวเราเองก็สามารถสร้างเรื่องราวใหม่ ๆ ในแบบฉบับของเราเอง มันคือประสบการณ์ที่แตกต่างแต่สวยงามในความทรงจำของเราที่เมื่อนึกถึงเมื่อไหร่ ก็จะมีรอยยิ้มและความรู้สึกดี ๆ เมื่อนั้น
^^