
บทความ โดย Dok Talom
หนังสือฝุ่น ๆ กับคุณในวันพฤหัสฯ วันนี้ ไม่ได้มาชวนอ่านแต่อยากมาแชร์ประสบการณ์จากการเลือกหนังสือเข้ากองดองของเรากันค่ะ จากใจคนที่รักการอ่านคนหนึ่งที่เริ่มจากการอ่านหนังสือนิทานที่ผู้ใหญ่เลือกหามาให้ ขยับมาเลือกอ่านการ์ตูนเล่มล่ะ 10 บาท 20 บาทเองเมื่อตอนเริ่มรู้ความ และเรียนรู้จากการเช่าหนังสือการ์ตูนตามร้านเช่าหนังสือและอ่านมันมากกว่าหนังสือเรียน
จากนั้นก็เป็นเพื่อนกับห้องสมุดโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสุดท้ายร้านหนังสือคือสถานที่แรกที่ทำให้กล้าที่จะออกไปไหนคนเดียว และมันได้กลายเป็นโลกส่วนตัวเล็ก ๆ ของฉันในที่สุด
Advertisement
การเดินทางในโลกของการอ่านของฉันได้เติบโตตามช่วงวัยและประสบการณ์ หนังสือบางเล่มเราเคยอ่านแล้วให้ความรู้สึกหนึ่ง ผ่านมาวันนี้กลับมาอ่านอีกครั้งความรู้สึกนั้นกลับเปลี่ยนไป เหมือนว่าเรานั้นได้อ่านหนังสือเล่มใหม่อีกครั้ง และบางครั้งเราก็รู้สึกแอบขำตัวเองว่านี่เราซื้อหนังสือเล่มนี้มาได้อย่างไร อย่างเช่นวันนี้ที่ฉันต้องมาชวนอ่านแต่กลับพบว่าหนังสือเล่มที่เคยซื้อมาเมื่อ 8 ปีที่แล้วนั้น กลายเป็นหนังสือเจ้าแห่งลักธิใหม่ซะงั้น T_T (ต้องขอบคุณที่โลกนี้ที่มี Google ที่เป็นคลังความรู้ในเรื่องที่เราต้องการรู้และถึงทำให้บางอ้อในที่สุด)
วันนี้ฉันเลยอยากมาแชร์ 5 เทคนิคการเลือกหนังสือ ที่ได้หาความรู้เพิ่มเติมมาและจากประสบการณ์ตรงในแบบฉบับของฉัน ให้คุณผู้อ่านลองเอาไปปรับใช้กันได้นะคะ ไม่อยากให้เจอความรู้สึกว่า นี่ฉันซื้อหนังสืออะไรมาแล้วอีกอย่างคือถ้าเราเผลอใจไปกับความเชื่อในหนังสือแล้วด้วยนั้นจะแย่ไปกันใหญ่ค่ะ

หาข้อมูลกันสักนิด ก่อนซื้อหนังสือ
การหาข้อมูลยุคปัจจุบันถือเป็นเรื่องง่ายยิ่งกว่าปอกเปลือกกล้วยเสียอีก เพียงแค่หยิบมือถือแล้วพิมพ์เรื่องที่อยากรู้อย่างใน google แต่อาจต้องใช้วิจารณญาณกันซักหน่อย เพราะข้อมูลบางอย่างก็เป็นประโยชน์ บางอย่างก็ไม่ใช่เพราะฉะนั้นควรหาข้อมูลในหลายๆ แหล่ง หลายๆ ความคิดเห็น แล้วนำมาประกอบการตัดสินใจซื้อ

อย่าเลือกหนังสือเพียงแค่หน้าปก หรือชื่อหนังสือ
ข้อนี้เพิ่งโดนมากับตัวและตัวฉันเป็นพวกแพ้แพคเกจจิ้งสวย ๆ (ข้อนี้ยังแก้ไม่หาย) แต่หลังจากวันนี้ต้องระมัดระวังให้มาก ซึ่งวงการหนังสือก็ถือเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะเขารู้จิตวิทยาข้อนี้ดี ปกหนังสือและชื่อหนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ (ฉันเคยทำงานอยู่สำนักพิมพ์มาก่อน แต่ก็ยังพลาดเรื่องนี้อยู่ดี) เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินในซื้ออาจเก็บไว้เป็นลิสรายชื่อหนังสือที่ต้องการซื้อไว้ก่อน แล้วกลับมาหาข้อมูลกันอีกทีนะคะ

ลิสต์รายชื่อหนังสือที่อยากซื้อ ก็เหมือนกับการจัดกระเป๋าก่อนออกเดินทาง
ก่อนออกเดินทางเรายังมีการจัดกระเป๋ากันอย่างดี การซื้อหนังสือก็เช่นกันเราต้องมีการลิสต์รายชื่อหนังสือที่อยากซื้อหรืออยากอ่านไว้แล้วหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ การไม่วางแผนการซื้อหนังสือของเราอาจทำให้เรากระเป๋าแตกได้ถือเป็นการวางแผนทางการเงินอีกทางหนึ่งด้วยนะ

ติดตามกูรู (นักอ่านมืออาชีพ) ก็เปรียบเสมือนมีจีพีเอสนำทาง
ในยุคสมัยที่โซเชียลกำลังเบ่งบานเราสามารถเข้าไปติดตามบุคคลที่เราสนใจได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะวงการบันเทิง อาหาร ท่องเที่ยว หรือวงการหนังสือก็มีเช่นกัน จะเห็นได้ว่ามีบุคคลหลายท่านออกมารีวิวหนังสือ แนะนำหนังสือที่พวกเขาชอบอ่าน ซึ่งเราสามารถไปกดติดตามรับชมรับฟังกันได้มากมาย ชอบแนวไหน ท่านใดก็ลองไปติดตามกันได้เลยนะคะ

หนังสือขายดี อาจไม่ใช่หนังสือสำหรับเราทุกเล่มไป
การซื้อหนังสือโดยอิงจากยอดขาย หรือ รางวัล อาจไม่ได้เหมาะกับเราทุกเล่ม ข้อนี้ไม่ได้บอกว่าห้ามซื้อนะคะ แต่อยากให้หาอ่านแนวที่เราอยากอ่านจริง ๆ หรือเป็นนักเขียนที่เราติดตามผลงานมาแล้วบ้าง หรือเป็นหนังสือที่เราหาข้อมูลมาดีแล้ว เพราะอย่างเล่มที่ฉันอ่านมาไม่กี่วันก่อนนั้นก็มียอดขายการันตี 100 ล้านเล่มทั่วโลกเหมือนกัน แต่นั่นทำให้ฉันฉุกคิดว่ายอดขายเหล่านั้นไม่ได้เป็นตัววัดคุณภาพหรือความเหมาะสมกับเรา อย่างที่บอกค่ะ “การอ่านหนังสือเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว” แค่ต้องหาหนังสือที่ใช่ มันคงดีกว่ามานั่งเสียดายเงินที่ซื้อมาแล้วไม่ได้อะไร นอกจากประสบการณ์ค่ะ
สุดท้ายนี้ขอให้สนุกกับการเลือกหนังสือที่เหมาะและใช่สำหรับตัวคุณนะคะ ^^